ระบบยื่นคำขอ

ระบบฐานข้อมูลการเรียนรู้ออนไลน์

IPOP Licensing

icon th

พิธีอนุญาตใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา SPARK STSP Innovation Fair 2019 ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ภายในงาน SPARK STSP Innovation Fair 2019 ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดพิธีอนุญาตใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีนายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีอนุญาตใช้สิทธิมีคู่สัญญาจำนวน 5 สัญญา ได้แก่

  1. สูตรการเตรียมผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดที่มีดอกไม้เป็นองค์ประกอบคำขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1703002492 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยมีนักวิจัยเจ้าของผลงานคือผศ.ดร.จุฑารัตน์ เอี้ยวกฤตยากร ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพโมเลกุลและชีวสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ บจก.กรีนเทคไบโอแลบ เป็นผู้รับอนุญาต รายละเอียดของการประดิษฐ์นี้ คือ การเตรียมผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดที่มีดอกไม้เป็นองค์ประกอบ เป็นสูตรที่มีความคงตัวและมีคุณภาพทางด้านกายภาพ เคมี มีความสามารถในการชำระล้าง มีการเพิ่มเติมองค์ประกอบที่มาจากธรรมชาติ ได้แก่ น้ำที่ได้จากการอบแห้งดอกไม้และดอกไม้อบแห้ง โดยดอกไม้อบแห้งสามารถลอยอยู่ระหว่างผลิตภัณฑ์ได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการประดิษฐ์นี้มีความหอมจากดอกไม้จริง อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาด

  2. สูตรการเตรียมแผ่นโฟมยางพาราสำหรับพรมรองละหมาด คำขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1703002493 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยมีนักวิจัยเจ้าของผลงานคือ ผศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิจัย กับ หจก.หาดใหญ่รับเบอร์เทค เป็นผู้รับอนุญาต รายละเอียดการประดิษฐ์นี้คือ เพื่อผลิตแผ่นโฟมยางพาราสำหรับพรมรองละหมาดที่มีวัตถุดิบหลักมาจากยางธรรมชาติโดยปรับปรุงสูตรสารเคมีในอัตราส่วนต่างๆ เพื่อให้มีน้ำหนักที่เบาและบางขึ้นเหมาะต่อการพกพาไปละหมาดนอกสถานที่ มีความนุ่มและยืดหยุ่นสูง ช่วยให้สามารถรองรับแรงกดทับจากน้ำหนักตัวได้ดี ไม่ปวดเมื่อยร่างกายในขณะทำพิธีละหมาด

  3. อุปกรณ์วัดกำหนดตำแหน่งก่อนการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา คำขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1603002255 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยมีนักวิจัยเจ้าของผลงานคือ คุณดวงรัตน์ หมายดี ภาควิชาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ กับ บจก.วอเทอร์ป๊อก เป็นผู้รับอนุญาต รายละเอียดการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาเพื่อลดโอกาสการดำเนินของโรคแทนการผ่าตัด ซึ่งในการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาต้องใช้คาลิปเปอร์โลหะ (caliper) กำหนดระยะก่อนการฉีด เพื่อป้องกันอันตรายต่อเลนส์แก้วตา และจอตา โดยคาลิปเปอร์ต้องผ่านการทำให้ปราศเชื้อก่อน และใช้ 1 อันต่อผู้ป่วย 1 คน ประกอบกับราคาตัวละ 8,000-10,000 บาท ในกรณีผู้ป่วยมารับบริการฉีดยาจำนวน 50-70 รายต่อวัน จึงไม่เพียงพอ จึงได้คิดประดิษฐ์ Disposable Caliper อุปกรณ์วัดกําหนดตําแหน่งก่อนการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาประกอบด้วย ส่วนปลายมีลักษณะแบน เป็น 2 แฉก มีขนาด 3.0 และ 4.0 มิลลิเมตร มีส่วนนูนอยู่ระหว่างก้านและปลายแฉกเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของส่วนแฉก ส่วนก้านมีลักษณะตรงและกลม ส่วนด้ามจับ มีลักษณะกลมมน มีรอยบาก 5เล็กน้อย เพื่อให้จับได้ถนัดมือ

  4.  กระเบื้องยางต่างสำผัสจากยางพารา สำหรับคนพิการทางสายตาคำขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1803002313 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยมีนักวิจัยเจ้าของผลงานคือ ผศ.ดร.อโนมา ธิติธรรมวงศ์ ภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ บจก.ภาภรอัณณ์ เป็นผู้รับอนุญาต รายละเอียดการประดิษฐ์นี้ คือ ยางต่างสัมผัสจากยางพาราสำหรับคนพิการเพื่อผลิตกระเบื้องทางสายตา ซึ่งเป็นกระเบื้องยางต่างสัมผัสผิวเรียบ สำหรับติดตั้งในอาคาร ที่มีความยืดหยุ่น ต้านทานต่อการลามไฟและป้องกันจุลชีพหรือเชื้อโรคได้ กระเบื้องยางต่างสัมผัสที่เตรียมได้จะมีประโยชน์เมื่อนำไปติดตั้งในอาคารในการนำทางคนพิการทางสายตา โดยไม่ทำให้การผ่านของรถเข็นเกิดอุปสรรคจากการสะดุด นอกจากนี้กระเบื้องยางต่างสัมผัสที่เตรียมได้ยังมีคุณสมบัติพิเศษด้านการต้านการลามไฟและต้านจุลชีพได้ ทำให้แผ่นยางชนิดนี้สามารถใช้งานในอาคารได้โดยไม่ผิดระเบียบการก่อสร้าง และไม่เป็นที่สะสมของเชื้อโรคที่ไม่พึงประสงค์

  5. อุปกรณ์แผ่นรองเท้าแบบปรับรูปแบบการรองได้ คำขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1303000400 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยมีนักวิจัยเจ้าของผลงานคือ ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ กับ บจก.เฮลท์ อินโนเวชั่น แอนด์ ดีไซน์ เป็นผู้รับอนุญาต รายละเอียดการประดิษฐ์นี้ อุปกรณ์แผ่นรองเท้าแบบปรับรูปแบบการรองได้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งาน สามารถปรับพื้นรองเท้าให้ได้ขนาด และลักษณะการใช้งานได้อย่างเหมาะสม สามารถลดระยะเวลาในการสั่งทำพื้นรองเท้าให้เหลือเพียง 10-15 นาที ด้วยการปรับการใช้งานด้วยตนเองอุปกรณ์แผ่นรองเท้าแบบปรับรูปแบบการรองได้ มีลักษณะเป็นพื้นรองเท้าที่มีความนุ่ม ลดการกระแทก มีการกระจายแรงอย่างเหมาะสมมีความโค้ง เว้า ให้เข้ารูป ตามสรีระของร่างกาย

 

เกี่ยวกับเรา

ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (จ.สงขลา)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ส่วนขยาย

หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา อว.ม.อ. : ภายใน 02-1404
สายตรง 0-7485-9516 โทรสาร: 074-859511

E-mail: ipop.psusp@gmail.com 
Website: https://ipop.psu.ac.th  

©2024 IPOP.PSU.AC.TH. All Rights Reserved.

Search

Language